วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

สร้างบ้านในเมืองไทย for Thailand only

พอย่างเข้าหน้าร้อน ทุกท่านคงนึกถึงบ้านเรือนไทยสมัยก่อน ที่มีชานบ้านให้นั่งเล่นนอนเล่นคลายร้อน แต่ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บางท่านอาจจะไม่ชอบอยู่บ้านเรือนไทยหรือการสร้างเรือนไทยอาจจะยุ่งยาก แต่ยังอยากได้ความเย็นสบายเหมือนเรือนไทย  ก่อนเริ่มสร้างบ้านแปลงเรือน ก็ให้คำนึงถึงสิ่งต่างๆ เลือกที่เหมาะกับภูมิประเทศของเมืองไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองร้อนชื้น และมีฝนตกชุก มาดูว่าการรับสร้างบ้านสามารถทำอย่างไรได้บ้าง


ยกพื้น

            เรือนไทยหรือเรือนพื้นถิ่นสมัยก่อนมักยกพื้นบ้านสูงจากพื้นดิน  ปัจจุบันการสร้างบ้านโดยทั่วไปจะสูงจากพื้นประมาณ  30 – 50  เซนติเมตร บางบ้านกลัวปัญหาน้ำท่วมจึงยกพื้นสูงกว่านั้น คือ 1 เมตร   ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น      แต่ความเป็นจริงระดับที่พอเหมาะ คือ ประมาณ 60-70 เซนติเมตร หรือบันไดสัก 3-4 ขั้น โดยมีความชันในแต่ละขั้น ประมาณ 17.5 เซนติเมตร (ลูกตั้ง) แล้วปล่อยให้ใต้ถุนโล่งลมโกรกผ่าน  ซึ่งนอกจากจะช่วยกันน้ำท่วมและความชื้นจากดินแล้ว ยังช่วยลดปัญหาเรื่องแมลง มด ปลวก แมลงสาปและอื่นๆอีกจิปาถะ    นอกจากนี้การยกใต้ถุนสูง เสาบ้านก็จะลอยทำให้เราเห็นแนว มด ปลวก ชัดเจน ปลวกจะกลัวแสงและกลัวความแห้ง ทำให้เราสามารถหาทางป้องกันได้โดยไม่ต้องฉีดสารเคมีกัน มด ปลวก ที่มีพิษต่อร่างกาย


ชายคาบังแดดกันฝนได้จริง 

            บ้านไทยต้องมีชายคายาว  แต่ระยะของชายคาที่เราเห็นจนชินตามักยื่นออกมาจากผนังอาคาร  ประมาณ 50 - 60 เซนติเมตร ตัวเลขนี้ได้รับอิทธิพลจากระยะยื่นชายคาของบ้านแบบตะวันตก ซึ่งในเมืองหนาวจะมีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศและวัสดุ (น้ำหนักของหิมะและไม้เนื้ออ่อน) สำหรับระยะการยื่นชายคาที่เหมาะสมของบ้านเราก็คือ 1 - 1.20 เมตร ตัวเลขนี้เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและวัสดุอีกเช่นกัน ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น กล่าวคือมีอากาศร้อนและฝนตกชุก จึงควรยื่นชายคาออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความร้อนจากแสงอาทิตย์และน้ำฝนที่จะโดนผนัง ขณะเดียวกันประเทศไทยก็โชคดีที่มีไม้เนื้อแข็ง ซึ่งสามารถรับน้ำหนักของชายคาที่ยื่นยาว 1 - 1.20 เมตรได้โดยไม่ต้องมีค้ำยัน ปัจจุบันยังมีวัสดุเหล็กที่มีความแข็งแกร่ง จึงทำให้ยื่นชายคาได้มากยิ่งขึ้น


ช่องว่างใต้หลังคาให้ลมผ่าน
             คนสมัยโบราณคิดถึงความเป็นจริงที่ว่าอากาศร้อนลอยขึ้นสู่ที่สูง   บริเวณหน้าจั่วของบ้านทรงไทยจึงมีการออกแบบให้สามารถระบายอากาศได้ เช่น หน้าจั่วรูปดวงอาทิตย์ หน้าจั่วใบเรือ แต่สมัยนี้การใช้หน้าจั่วลักษณะดังกล่าวอาจดูเชยและไม่เข้ากับตัวอาคาร อย่างไรก็ตามเราอาจนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ได้ เช่น การออกแบบหลังคาสองชั้น โดยให้หลังคาชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กปกติ แต่ทำหลังคาซ้อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้เกิดช่องอากาศใต้หลังคาทั้งสอง เป็นการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้เป็นอย่างดี 


ครัวไทยต่างจากครัวฝรั่ง
            บ้านไหนที่คิดว่าจะมีการทำอาหารแบบจริงจัง ใช้งานหนัก ใช้งานประจำ การออกแบบครัวแยกออกมาจากตัวบ้านเหมือนเรือนไทยสมัยก่อนเป็นสิ่งที่เหมาะสมและใช้งานได้สะดวกที่สุด เพราะการทำอาหารไทยจะได้กลิ่นฉุนจากเครื่องปรุง หากมีการตำน้ำพริกก็ต้องใช้เคาน์เตอร์ครัวที่แข็งแรงหรืออาจตำที่พื้น อีกทั้งเรื่องความร้อนที่เกิดจากการปรุงอาหาร การแยกครัวออกมาจากตัวบ้านโดยอยู่ไม่ห่างกันมากนักจึงเป็นทางออกที่ดี

พื้นที่โล่งรอบบ้านสำหรับการพักผ่อน
            เพื่อให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เรายอมแลกกับความไม่สบายบางอย่าง เช่น การเปิดพื้นที่โล่งรอบบ้านให้แสงแดดและลมเข้ามาภายในบริเวณบ้านได้ ก็อาจต้องแลกกับการมีฝนสาดเข้ามา คนสมัยก่อนเข้าใจธรรมชาติดี บ้านเรือนไทยจึงมีการเชื่อมพื้นที่ห้องต่างๆด้วยชานโล่ง ถือเป็นพื้นที่เปิดโล่งที่ช่วยให้บ้านเย็นสบายและน่าอยู่ หรือจะเป็นพื้นที่พักผ่อนนอกบ้านอย่างศาลาหรือแพริมน้ำ ในยามแดดร่มลมตกก็เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของทุกคนในบ้านได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ยังหมายถึงการมีระยะเว้นว่างระหว่างตัวบ้าน จากห้องถึงห้อง จากอาคารถึงอาคาร เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวตัวอาคารให้สามารถระบายความร้อนออกไปได้ดีขึ้นด้วย



บ้านเรือนไทย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น